Third International; Comintern (1919–1943)

องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓, โคมินเทิร์น สัญลักษณ์ขององค์การโคมินเทิร์น (พ.ศ. ๒๔๖๒–๒๔๘๖)

 องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ หรือสากลที่ ๓ ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นทางการว่า องค์การโคมินเทิร์น (Comintern) เป็นองค์การคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศที่เคลื่อนไหวให้เกิดการปฏิวัติโลกเพื่อให้ระบอบคอมมิวนิสต์แทนที่ระบบทุนนิยม สากลที่ ๓ ทำหน้าที่ประสานงานกับพรรคคอมมิวนิสต์ประเทศต่าง ๆ เพื่อผลักดันการก่อการปฏิวัติด้วยวิธีการทุกรูปแบบซึ่งรวมทั้งการลุกฮือด้วยอาวุธเพื่อโค่นอำนาจชนชั้นกระฎุมพีในประเทศต่าง ๆ และการสร้างสาธารณรัฐโซเวียตสากล (International Soviet Republic) ขึ้นซึ่งจะนำไปสู่การสูญสลายของรัฐ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๙–๑๙๓๕ สากลที่ ๓ จัดการประชุมใหญ่ระหว่างประเทศรวม ๗ ครั้ง ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๗ ค.ศ. ๑๙๓๕ ที่ประชุมใหญ่มีมติให้พรรคคอมมิวนิสต์ประเทศต่าง ๆ ดำเนินนโยบายแนวร่วมประชาชน (Popular Front)* กับพรรคการเมืองที่ต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* และให้ชะลอการก่อการปฏิวัติออกไปก่อน พรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปจึงหันมาเคลื่อนไหวทางการเมืองตามคำชี้นำของสากลที่ ๓ โดยร่วมมือกับพรรคการเมืองกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศตนจัดตั้งแนวร่วมประชาชนขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อสหภาพโซเวียตหันมาร่วมมือกับเยอรมนีด้วยการลงนามในกติกาสัญญานาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Pact)* ค.ศ. ๑๙๓๙ นโยบายแนวร่วมประชาชนก็หมดบทบาทและความสำคัญลง

 การก่อตั้งสากลที่ ๓ มีที่มาจากการประชุมใหญ่นักสังคมนิยมยุโรประหว่างประเทศครั้งแรก (First International Socialist Congress) ระหว่างวันที่ ๕–๘ กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๙ ที่ซิมเมอร์วัลด์ (Zimmerwald) หมู่บ้านเล็ก ๆ ใกล้กรุงเบิร์น (Berne) สวิตเซอร์แลนด์การประชุมครั้งนี้ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่าการประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์ (Zimmerwald Conference)* มีวัตถุประสงค์จะผนึกกำลังของกลุ่มนักสังคมนิยมยุโรปที่เป็นกลางเพื่อต่อต้านสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ที่กำลังดำเนินอยู่และเพื่อเรียกร้องให้พรรคสังคมประชาธิปไตยในประเทศต่าง ๆ ถอนตัวจากการสนับสนุนนโยบายสงครามของรัฐบาล


ในประเทศตน วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* และกรีกอรี ซีโนเวียฟ (Grigori Zinoviev)* ผู้แทนพรรคบอลเชวิค (Bolshevik)* หรือพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (Russian Social Democratic Worker’s Party)* ที่เข้าร่วมประชุมเสนอให้เคลื่อนไหวเปลี่ยนสงครามจักรวรรดินิยมของประเทศทุนนิยมให้เป็นสงครามกลางเมืองและให้จัดตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ ขึ้นเพื่อทำหน้าที่แทนองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ (Second International)* ที่หมดบทบาทลงใน ค.ศ. ๑๙๑๔ และยุบเลิกอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. ๑๙๑๖ แม้ข้อเสนอของเลนินจะไม่เป็นที่ยอมรับของที่ประชุมแต่แนวความคิดเรื่องสากลที่ ๓ ก็เป็นที่รับทราบกันในขบวนการสังคมนิยมยุโรป

 เมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ขึ้นในรัสเซียพรรคบอลเชวิคได้อำนาจทางการเมืองและรัสเซียเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ตามแนวทางลัทธิมากซ์ ใน ค.ศ. ๑๙๑๘ เลนินเห็นว่าหากไม่มีการปฏิวัติสังคมนิยมทั่วยุโรป กำลังทหารของประเทศทุนนิยมที่เข้มแข็งจะบดขยี้ฝ่ายสังคมนิยมดังเช่นเหตุการณ์คอมมูนแห่งปารีส (Commune of Paris)* ค.ศ. ๑๘๗๑ เขาจึงเสนอความคิดเรื่องการก่อตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ ขึ้นใหม่อีกครั้ง และให้เกออร์กี วาซีเลวิช ชิเชริน (Georgi Vasilevich Chicherin)* และนีโคไล บูฮาริน (Nikolai Bukharin)* แกนนำพรรคบอลเชวิคเตรียมงานเพื่อจัดการประชุมใหญ่นักสังคมนิยมระหว่างประเทศขึ้นที่กรุงมอสโกในกลางเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๑๙ อย่างไรก็ตามความผันผวนของสถานการณ์สงครามในยุโรปและเหตุการณ์วุ่นวายในเยอรมนีที่สืบเนื่องจากการปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน (November Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๘ รวมทั้งสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘–๑๙๒๑)* ทำให้การประชุมที่กำหนดไว้ในกลางเดือนมกราคมต้องเลื่อนออกไปเป็นต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๙

 ในวันเปิดการประชุมใหญ่นักสังคมนิยมระหว่างประเทศครั้งแรกที่กรุงมอสโกในวันที่ ๒ มีนาคม เลนินซึ่งเป็นประธานที่ประชุมได้ประกาศก่อตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ ขึ้นอย่างเป็นทางการและที่ประชุมมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้มีเกือบ ๖๐ คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตและชาวต่างชาติที่ลี้ภัยและอาศัยอยู่ในกรุงมอสโก ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้แทนของกลุ่มสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ ๓๕ คน จาก ๒๑ ประเทศ ในยุโรป เอเชีย และสหรัฐอเมริกา ชาวต่างชาติที่มีชื่อเสียงซึ่งเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ มีจอห์น รีด (John Reed) นักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันเป็นผู้แทนของกลุ่มคอมมิวนิสต์อเมริกัน บอริส ไรน์สไตน์ (Boris Rinstein) ชาวรัสเซียสัญชาติอเมริกันเป็นผู้แทนของกลุ่มชนชั้นแรงงานชาวอเมริกัน คริสเตียน ราคอฟสกี (Christian Rakovsky) นักสังคมนิยมบัลแกเรียเป็นผู้แทนของกลุ่มสมาพันธรัฐปฏิวัติบอลข่าน และมักซ์ อัลแบร์ท (Max Albert) ผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมนี

 ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้สำนักงานบริหารขององค์การคอมมิวนิสต์สากลตั้งอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน แต่ปัญหาทางการเมืองในเยอรมนีทำให้ที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้กรุงมอสโกเป็นที่ตั้งชั่วคราวก่อนจนกว่าจะมีการจัดตั้งสาธารณรัฐโซเวียตเยอรมันขึ้นได้สำเร็จในเยอรมนี เนื้อหาหลักของการประชุมคือการอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นประเด็นความแตกต่างระหว่าง “ประชาธิปไตยกระฎุมพี” (bourgeois democracy) กับ “เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ” (dictatorship of the proletariat) ผลการประชุมที่สำคัญคือมีการออกเอกสาร ๓ ฉบับว่าด้วยหลักนโยบายทั่วไปและวัตถุประสงค์ขององค์การคอมมิวนิสต์สากล ฉบับแรกคือ Manifesto of the Communist International to the Proletariat of the Entire World ซึ่งเลออนตรอตสกี (Leon Trotsky)* สหายร่วมรบของเลนินเขียนโดยเรียกร้องให้พลเมืองของประเทศอาณานิคมในเอเชียและแอฟริกาและชนชั้นกรรมาชีพในประเทศอุตสาหกรรมผนึกกำลังกันต่อสู้ชนชั้นปกครองที่กดขี่และให้สนับสนุนแนวนโยบายขององค์การคอมมิวนิสต์สากล ทั้งเน้นว่าวันเวลาของการสถาปนาอำนาจเผด็จการแห่งชนชั้นกรรมาชีพในยุโรปจะเป็นเวลาของการปลดปล่อยทาสอาณานิคมในแอฟริกาและเอเชียด้วย เอกสารฉบับที่ ๒ และ ๓ ซึ่งเขียนโดยบูฮารินและเลนินตามลำดับ คือ The Guiding Principles of the International Communist Congress และ Theses on Bourgeois Democracy and Proletarian Dictatorship สาระหลักของเอกสารทั้ง ๒ ฉบับ คล้ายคลึงกับเอกสารที่ตรอตสกีเขียนกล่าวคือการโจมตีแนวทางของกลุ่มสังคมประชาธิปไตยการประณามระบบรัฐสภาและสิทธิเสรีภาพแบบนายทุนและเรียกร้องการก่อปฏิวัติด้วยการใช้กำลังอาวุธโค่นล้มระบบทุนนิยมในประเทศต่าง ๆ เพื่อก่อตั้ง “สภาโซเวียต” (Soviet) ให้เป็นรากฐานของระบอบการปกครอง ให้ชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกก่อการปฏิวัติตามแบบโซเวียตเพื่อสถาปนาอำนาจเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพขึ้น รัฐบาลโซเวียตซึ่งเป็นรัฐบาลของชนชั้นกรรมาชีพรัฐแรกของโลกจะร่วมมือและหนุนช่วยการปฏิวัติที่เกิดขึ้นให้บรรลุผลสำเร็จ

 ในวันที่ ๔ มีนาคมซึ่งเป็นวันปิดการประชุมใหญ่ที่ประชุมประกาศให้การประชุมใหญ่ครั้งนี้เป็นการประชุมใหญ่ครั้งแรกขององค์การคอมมิวนิสต์สากล (First Congress of The Communist International)และถือว่าเป็นองค์การที่สืบทอดอำนาจจากองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๑ หรือสากลที่ ๑ (First International)* ที่คาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* ได้ก่อตั้งขึ้น ที่ประชุมมีมติให้เปลี่ยนชื่อองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ เป็นโคมินเทิร์น และเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารขึ้น กรีกอรี ซีโนเวียฟได้รับเลือกเป็นประธานโคมินเทิร์นและเขาดำรงตำแหน่งดังกล่าวจนถึง ค.ศ. ๑๙๒๖ ส่วนเลขาธิการคือคาร์ล ราเดค (Karl Radek)* นักปฏิวัติบอลเชวิคที่สังกัดกลุ่มตรอตสกีและสนับสนุนแนวความคิดการปฏิวัติถาวร (Permanent Revolution)* ของตรอตสกี

 ในช่วงที่สงครามกลางเมืองรัสเซียกำลังขยายตัวไปยังพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของประเทศ การดำเนินงานของโคมินเทิร์นในระยะแรก ๆ ยังคงมีหน้าที่และบทบาทจำกัดเพียงการออกคำประกาศและคำแถลงการณ์ต่าง ๆ เพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ การเรียกร้องให้ชนชั้นกรรมาชีพในประเทศยุโรปก่อการปฏิวัติเพื่อจัดตั้งสาธารณรัฐโซเวียตขึ้น และเรียกร้องพลเมืองยุโรปให้เคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายการแทรกแซงด้วยกำลังอาวุธของรัฐบาลประเทศตนในดินแดนรัสเซีย รวมทั้งให้ก่อการปฏิวัติขึ้น ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๙–๑๙๒๐ นโยบายด้านรับ (defensive) ของโคมินเทิร์นในการเผยแพร่อุดมการณ์ปฏิวัติมักประสบความสำเร็จมากกว่านโยบายด้านรุกในการจะผลักดันให้เกิดการปฏิวัติขึ้นทั่วโลก แม้กลุ่มคอมมิวนิสต์จะก่อการปฏิวัติขึ้นได้สำเร็จในฮังการี ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งสาธารณรัฐโซเวียตฮังการี (Hungary Soviet Republic)* การปฏิวัติโค่นอำนาจราชวงศ์วิทเทลสบัค (Wittelsbach)* ในบาวาเรียและการปฏิวัติในออสเตรีย แต่การปฏิวัติที่เกิดขึ้นทั้ง ๓ แห่งก็ปราชัยลงภายในช่วงเวลาอันสั้น

 ในกลางฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๒๐ รัฐบาลโซเวียตซึ่งเป็นฝ่ายได้เปรียบในสงครามกลางเมืองและเริ่มมีเสถียรภาพทางการเมืองที่เข้มแข็งได้กำหนดจัดประชุมใหญ่ครั้งที่๒ขององค์การโคมินเทิร์นขึ้นระหว่างวันที่ ๑๙ กรกฎาคมถึงวันที่ ๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ ที่สถาบันสมอลนืย (Smolny) การประชุมใหญ่ครั้งนี้มีสีสันและความน่าประทับใจมากกว่าการประชุมใหญ่ครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๙๑๙ เพราะเป็นการจัดประชุมที่นครเปโตรกราด (Petrograd) ซึ่งเป็นอู่ของการปฏิวัติเดือนตุลาคม จำนวนผู้แทนคอมมิวนิสต์ชาวต่างชาติและผู้ที่สนับสนุนการปฏิวัติซึ่งเข้าร่วมประชุมจึงมีมากกว่าในการประชุมครั้งแรก และมีผู้แทนของพรรคคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ ถึง ๓๕ ประเทศเข้าร่วม รวม ๒๑๗ คน ผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์ต่างชาติส่วนใหญ่มาจากอิตาลี เยอรมนี และฝรั่งเศส แต่จำนวนผู้แทนของฝ่ายโซเวียตก็มีมากที่สุดประมาณ ๑ ใน ๓ ของผู้เข้าร่วมประชุม ก่อนเริ่มประชุมมีการนำผู้แทนชาวต่างชาติไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ เช่น สถานีรถไฟฟินแลนด์ พระราชวังฤดูหนาวห้องประชุมของสถาบันสมอลนืย

 ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๒ นี้ ซีโนเวียฟประธานของโคมินเทิร์นเรียกร้องให้มีการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีการรวมศูนย์อำนาจ มีระเบียบวินัยและการดำเนินงานตามลำดับขั้น ตลอดจนการเข้มงวดเรื่องการรับสมาชิก เลนินจึงผลักดันเรื่องวัตถุประสงค์ของโคมินเทิร์นไว้ ๓ ข้อ คือ (๑) ในการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นในประเทศต่าง ๆ นั้น การจัดตั้งไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นจากศูนย์หรือจากการแยกตัวออกจากพรรคสังคมนิยมที่ดำรงอยู่ก็ตาม พรรคคอมมิวนิสต์ต้องกำหนดข้อบังคับสมาชิก การมีวินัยเหล็กแบบทหารที่เข้มงวด และการต้องเชื่อมั่นอย่างสูงในศูนย์การนำของพรรคซึ่งหมายถึงพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต (๒)พรรคคอมมิวนิสต์ในต่างประเทศต้องอยู่ใต้การควบคุมของคณะกรรมการบริหารกลางของโคมินเทิร์นซึ่งมีสถานภาพเป็นกรม (department) ในคณะกรรมาธิการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตจะมีผู้แทนในคณะกรรมการบริหารกลางของโคมินเทิร์น ๕ คน ในขณะที่สมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ชาติอื่น ๆ จะมีได้เพียง ๑ คน เท่านั้น พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตจะกำหนดวิธีการเลือกคณะกรรมการบริหารกลางของโคมินเทิร์นและมีอำนาจปลดหรือขับไล่สมาชิกหรือพรรคคอมมิวนิสต์ที่ไม่เชื่อฟังคำสั่งได้ (๓) ภารกิจเฉพาะหน้าของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่าง ๆ คือ การเข้าแทรกแซงและยึดอำนาจการควบคุมองค์การมวลชนต่างๆรวมทั้งในรัฐสภา สหภาพแรงงาน และสหบาลกรรมกรด้วยการเข้าร่วมเคลื่อนไหวในรัฐสภา สหบาลกรรมกรและองค์การมวลชนต่าง ๆ เพื่อดำเนินการจัดตั้งและโฆษณาปลุกระดมอย่างแยบยลเพื่อชักจูงกรรมกรและมวลชนเข้าสู่องค์การปฏิวัติและเพื่อประสานงานลับเข้ากับงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตลอดจนชี้แนะมวลชนให้เรียนรู้การวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองอย่างถูกต้องและอื่น ๆ แต่วัตถุประสงค์หลักที่สำคัญที่สุดของโคมินเทิร์นคือ “การลุกฮือด้วยอาวุธ” เพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่ดำรงอยู่และจัดตั้งระบบคอมมิวนิสต์ขึ้นบริหารปกครองเพื่อเตรียมพร้อมที่จะสถาปนาสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตขึ้นทั่วโลก

 ก่อนการประชุมใหญ่ครั้งที่๒จะสิ้นสุดลงที่ประชุมมีมติให้กำหนด “เงื่อนไข ๒๑ ประการ” (TwentyOneConditions)เป็นหลักการพื้นฐานของการเข้าเป็นสมาชิกโคมินเทิร์น การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวมีความจำเป็นเพราะในช่วงที่โคมินเทิร์นจัดประชุมใหญ่ครั้งที่ ๒ ขึ้นนั้น มีพรรคคอมมิวนิสต์และองค์การคอมมิวนิสต์เพิ่มจำนวนมากขึ้นทั้งกลุ่มคอมมิวนิสต์ต่างประเทศซึ่งไม่สนับสนุนฝ่ายใดและกลุ่มสายกลางในองค์การโคมินเทิร์นก็พยายามแสวงหาพันธมิตรเพื่อสนับสนุนฝ่ายตน โคมินเทิร์นจึงอาจถูกแทรกแซงจากพรรคฝ่ายปฏิรูปและฝ่ายที่ยังคงสนับสนุนองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ อยู่ เงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิกจะเป็นการกำหนดหน้าที่และพันธกิจของพรรคใหม่ ๆ ที่ต้องการเป็นสมาชิกโคมินเทิร์น เงื่อนไข ๒๑ ประการซึ่งเลนินเป็นผู้ร่างส่วนใหญ่สะท้อนเจตจำนงของโคมินเทิร์นรวมทั้งต่อต้านไม่ให้พรรคคอมมิวนิสต์หรือกลุ่มคอมมิวนิสต์อื่น ๆ มีความจงรักภักดีต่อมาตุภูมิของตนและไม่ยึดมั่นในรัฐธรรมนูญพรรคหรือผูกพันต่องานอาชีพซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของขบวนการคอมมิวนิสต์สากล

 เงื่อนไข ๒๑ ประการของการเข้าเป็นสมาชิกโคมินเทิร์นทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ทุกพรรคต้องปฏิบัติตามหลักอุดมการณ์และแนวทางการเมืองแบบโซเวียตตลอดจนใช้กลยุทธ์การปฏิวัติแบบโซเวียตด้วย เงื่อนไขดังกล่าวเปิดโอกาสให้สหภาพโซเวียตเข้าควบคุมและมีอิทธิพลทั้งในโคมินเทิร์นและในพรรคคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ ด้วย ในเวลาต่อมาโคมินเทิร์นจึงกลายเป็นองค์การที่ดำเนินงานเพื่อตอบสนองแนวนโยบายและผลประโยชน์ของสหภาพโซเวียตมากกว่าผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก อย่างไรก็ตาม การที่ผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์ประเทศต่าง ๆ ยอมรับเงื่อนไข ๒๑ ประการส่วนหนึ่งเป็นเพราะต่างชื่นชมและยกย่องเลนินและพรรคบอลเชวิคที่ก่อการปฏิวัติขึ้นได้สำเร็จ และเชื่อมั่นว่าบอลเชวิคมีแนวทางการปฏิวัติที่ถูกต้อง ทั้งยังคงรับรู้และเข้าใจในทฤษฎีปฏิวัติและการปฏิบัติงานของบอลเชวิคอย่างผิวเผินพวกเขาจึงยังไม่ตระหนักถึงข้อเรียกร้องของบอลเชวิคที่เป็นการวางเงื่อนไขผูกมัดตนไว้

 ภายหลังการประชุมใหญ่ครั้งที่๒ ของโคมินเทิร์นกลุ่มคอมมิวนิสต์ในประเทศตะวันตกเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองตามนโยบายของโคมินเทิร์นด้วยการแยกตัวออกจากพรรคสังคมนิยมหรือพรรคสังคมประชาธิปไตยในประเทศของตนและจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้น แม้โคมินเทิร์นจะประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ขบวนการคอมมิวนิสต์สากลจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ ขึ้นในนานาประเทศของยุโรปได้สำเร็จ แต่ในการดำเนินงานของพรรคคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ ที่จะเข้าแทรกแซงและควบคุมสหภาพแรงงานในประเทศตนตามวัตถุประสงค์ของโคมินเทิร์นมักประสบความล้มเหลว ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๐–๑๙๓๕ ไม่ปรากฏว่ามีพรรคคอมมิวนิสต์ใดในประเทศยุโรปมีอำนาจเหนือสหภาพแรงงาน ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงื่อนไขทางสังคมและการเมืองของประเทศที่แตกต่างกับสหภาพโซเวียต และทั้งกรรมกรและสหภาพแรงงานในประเทศยุโรปไม่สนใจที่จะก่อการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองเพราะต่างพึงพอใจกับระบอบการปกครองและนโยบายรัฐสวัสดิการ (Welfare State)* ของประเทศตน

 ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ รัฐบาลโซเวียตประกาศใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่หรือเนป (New Economic Policy–NEP)* เพื่อฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจที่พังพินาศนโยบายเศรษฐกิจใหม่ทำให้สหภาพโซเวียตต้องการความช่วยเหลือจากประเทศตะวันตกทั้งด้านเงินทุนและเทคโนโลยี เนปจึงเป็นการเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนนโยบายภายในและนโยบายต่างประเทศครั้งใหม่ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นในการประชุมใหญ่ครั้งที่๓ของโคมินเทิร์นที่กรุงมอสโกระหว่างวันที่ ๒๒ มิถุนายนถึงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเนปและบทบาทหน้าที่ของโคมินเทิร์นซึ่งจะเน้นยุทธวิธีการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับเงื่อนไขทางสังคมและการเมืองในการลุกฮือก่อการปฏิวัติ ผลการประชุมสรุปได้ว่าโคมินเทิร์นจะลดบทบาทการดำเนินงานที่จะผลักดันการก่อกระแสการปฏิวัติโลกลงโดยเฉพาะในดินแดนอาณานิคมของประเทศตะวันตกและจะกำหนดกิจกรรมด้านต่างประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการต่างประเทศ โคมินเทิร์นจะเน้นนโยบายการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ประเทศต่าง ๆ ให้เคลื่อนไหวจัดตั้งมวลชนคนงานเพื่อให้เข้าร่วมในขบวนการคอมมิวนิสต์สากล ต่อมาในการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๔ ที่กรุงเปโตรกราดและกรุงมอสโกระหว่างวันที่ ๕ พฤศจิกายนถึงวันที่ ๕ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ ที่ประชุมยังคงเน้นการสานต่อนโยบายของการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๓

 ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๓ ที่ประชุมมีมติจัดตั้งหน่วยงานพิเศษที่เรียกว่า “โปรฟินเทิร์น” (Profintern) หรือองค์การสากลคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพแรงงาน (Red International of Trade Unions) โดยมีวัตถุประสงค์ดำเนินการโฆษณาชวนเชื่อในหมู่กรรมกรของประเทศอุตสาหกรรมต่างๆโดยเฉพาะการโน้มน้าวจูงใจผู้นำของสหภาพแรงงานต่าง ๆ ให้แยกตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Federation of Trade Unions–IFTU) ที่อยู่ในการดำเนินงานของฝ่ายสังคมนิยมสากลอย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของโปรฟินเทิร์นก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนักเพราะสหภาพแรงงานส่วนใหญ่ไม่สนใจในการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อโค่นล้มระบบการปกครอง และมักคำนึงถึงการต่อสู้ทางเศรษฐกิจเพื่อปรับมาตรฐานการดำรงชีพของคนงานให้ดีขึ้นเท่านั้น มีเพียงสมาชิกจำนวนหนึ่งของสหภาพแรงงานฝรั่งเศสที่นิยมคอมมิวนิสต์เท่านั้นที่เห็นด้วยกับนโยบายของโปรฟินเทิร์นและแยกตัวมาเข้าร่วมกับโปรฟินเทิร์น

 ความล้มเหลวของโคมินเทิร์นในการผลักดันการปฏิวัติแบบโซเวียตขึ้นในประเทศยุโรปส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงื่อนไขทางการเมืองและสังคมในประเทศยุโรปไม่เอื้ออำนวยทั้งยังแตกต่างจากสหภาพโซเวียตนอกจากนี้ กรรมกรและชาวนาในประเทศยุโรปอื่น ๆก็ไม่มีแนวคิดทางการเมืองรุนแรงและไม่สนใจการปฏิวัติ ทั้งพอใจกับระบบสังคมและนโยบายรัฐสวัสดิการของประเทศตน การพยายามผลักดันแนวนโยบายก่อการปฏิวัติแบบโซเวียตจึงไม่สอดคล้องกับสภาพเงื่อนไขทางการเมืองและสังคมที่ดำรงอยู่ แม้การดำเนินงานของโคมินเทิร์นใน ๒ ทศวรรษแรกจะเน้นการปลูกฝังและเผยแพร่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์เป็นหลัก แต่นโยบายของโคมินเทิร์นที่จะสลายพลังของฝ่ายสังคมนิยมก็มีส่วนทำให้กลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรงเห็นเป็นโอกาสเข้ายึดอำนาจทางการเมืองและจัดตั้งระบอบเผด็จการขึ้นปกครองประเทศ ดังเช่นในกรณีของอิตาลีและเยอรมนีในเวลาต่อมา การได้อำนาจของกลุ่มฝ่ายขวาดังกล่าวไม่เพียงทำให้ฝ่ายสังคมนิยมถูกปราบปรามลงเท่านั้น แต่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ยังถูกกวาดล้างจนกลายเป็นพวกนอกกฎหมายไปทั้งสหภาพโซเวียตก็ถูกต่อต้านด้วย

 อสัญกรรมของเลนินใน ค.ศ. ๑๙๒๔ และปัญหาการแย่งชิงอำนาจภายในพรรคมีส่วนทำให้โคมินเทิร์นต้องปรับนโยบายจากการผลักดันการปฏิวัติโลกเป็นการปกป้องความมั่นคงของสหภาพโซเวียต ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๕ ที่กรุงมอสโกระหว่างวันที่ ๑๗ มิถุนายนถึงวันที่ ๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๔ โคมินเทิร์นสรุปความล้มเหลวของการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในยุโรปและเห็นว่าสหภาพโซเวียตเป็นเพียงประเทศเดียวที่ระบบสังคมนิยมยังคงดำรงอยู่และจำเป็นต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่สหภาพโซเวียตโคมินเทิร์นจึงกำหนดนโยบายใหม่ที่เรียกว่า “การทำให้เป็นแบบบอลเชวิค” (Bolshevization) โดยให้สมาชิกยึดแนวนโยบายตามแบบโซเวียต โดยเชื่อมั่นต่อการนำของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตและร่วมกันปกป้องระบบสังคมนิยมโซเวียต หลังการประชุมใหญ่ครั้งนี้ ซีโนเวียฟซึ่งหันมาสนับสนุนตรอตสกีเพื่อคานอำนาจโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ถูกขับออกจากพรรคและถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการโคมินเทิร์นใน ค.ศ. ๑๙๒๖ สตาลินสนับสนุนบูฮารินให้ดำรงตำแหน่งแทน แต่เขาอยู่ได้เพียง ๒ ปี ก็ถูกปลดเพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อสตาลิน เกออร์กี ดิมีทรอฟ (Georgi Dimitrov)* ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรียซึ่งเคยชี้แนะให้โคมินเทิร์นก่อตั้งสหภาพแรงงานในคาบสมุทรบอลข่านได้ดำรงตำแหน่งแทนใน ค.ศ. ๑๙๓๔ จนถึง ค.ศ. ๑๙๔๓

 การประชุมใหญ่โคมินเทิร์นครั้งที่ ๖ ระหว่างวันที่ ๑๗ กรกฎาคมถึงวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๒๘ที่กรุงมอสโก ที่ประชุมประกาศสนับสนุนให้พรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่าง ๆ เป็นพันธมิตรกับพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ต่อต้านระบบฟาสซิสต์เพราะเห็นว่าลัทธิฟาสซิสต์กำลังขยายอิทธิพลอย่างรวดเร็วในยุโรป นโยบายใหม่นี้มีผลกระทบต่อประเทศที่เป็นอาณานิคมด้วย เพราะใน ค.ศ. ๑๙๒๗ พรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งเป็นแนวร่วมกับพรรคกว๋อหมินตั่ง (Guomindang) ถูกเจียงไคเชก (ChiangKaishek) ผู้นำคนใหม่ของพรรคกว๋อหมินตั่งปราบปรามกวาดล้างอย่างเด็ดขาดจนนำไปสู่การสิ้นสุดของแนวร่วมแห่งชาติครั้งที่ ๑ โคมินเทิร์นจึงกำหนดขอบเขตการสร้างแนวร่วมเฉพาะในดินแดนยุโรปเท่านั้น ในช่วงเวลาเดียวกัน ตรอตสกีซึ่งถูกเนรเทศออกจากสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. ๑๙๒๙ ก็พยายามเคลื่อนไหวผลักดันการจัดตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๔ หรือสากลที่ ๔ (Fourth International)* ขึ้นเพื่อคานอำนาจกับองค์การโคมินเทิร์นซึ่งเขาเห็นว่าเป็นเครื่องมือเสริมอำนาจและผลประโยชน์ให้แก่สหภาพโซเวียต ตรอตสกีคาดหวังว่าสากลที่ ๔ จะทำหน้าที่ชี้นำแนวทางการปฏิวัติโลกแก่กรรมกรทั่วโลกและสร้างความแข็งแกร่งแก่ลัทธิสากลนิยมของชนชั้นกรรมาชีพ (Proletariat International) ทั้งนำไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองในสหภาพโซเวียต แต่การจัดตั้งสากลที่ ๔ ก็ล้มเหลว

 การก้าวขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน (National Socialist German Workers’ Party)* ใน ค.ศ. ๑๙๓๓ และการดำเนินงานติดอาวุธให้กองทัพเยอรมันตลอดจนการกวาดล้างฝ่ายคอมมิวนิสต์มีส่วนสร้างความหวาดวิตกแก่สหภาพโซเวียต ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๗ ซึ่งเป็นสมัยสุดท้ายของโคมินเทิร์นที่กรุงมอสโกระหว่างวันที่ ๒๕ กรกฎาคมถึงวันที่ ๒๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๕ มีผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ รวม ๖๕ พรรคเข้าร่วมประชุมที่ประชุมมีมติให้ยืนยันนโยบายของการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๖ โดยประกาศอย่างเป็นทางการเรื่องนโยบายการจัดตั้งแนวร่วมประชาชนด้วยการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ในยุโรปให้ร่วมมือกับพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์และให้ชะลอเรื่องการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ออกไปก่อน นโยบายของโคมินเทิร์นทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ในยุโรปต้องปรับแนวนโยบายการเคลื่อนไหวและหันมาร่วมมือกับพรรคการเมืองกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศตนจัดตั้งแนวร่วมประชาชนขึ้นเยอรมนีและญี่ปุ่นจึงร่วมกันทำกติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์น (Anti-Comintern Pact)* เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๖ เพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในปีต่อมาอิตาลีก็เข้าร่วมในกติกาต่อต้านโคมินเทิร์นด้วยเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๗ ต่อมาเมื่อสหภาพโซเวียตเริ่มนโยบายการกวาดล้างครั้งใหญ่ (Great Purges)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๗–๑๙๓๘ สตาลินสั่งให้กวาดล้างฝ่ายตรงข้ามเขาที่แฝงฝังในโคมินเทิร์นด้วย เจ้าหน้าที่โคมินเทิร์นจำนวน ๑๓๓ คน จาก ๔๙๒ คนถูกกวาดล้างและผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์ประเทศต่าง ๆ ที่ทำงานในหน่วยงานต่าง ๆ ของโคมินเทิร์นถูกกวาดล้างเป็นจำนวนมาก โคมินเทิร์นจึงอ่อนแอและแทบจะหมดบทบาทและความสำคัญในขบวนการสังคมนิยมระหว่างประเทศลง

 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๙ โคมินเทิร์นประกาศนโยบายไม่แทรกแซงในสงคราม เพราะเห็นว่าเป็นสงครามจักรวรรดินิยมระหว่างประเทศทุนนิยม ทั้งสนับสนุนการดำเนินนโยบายเป็นกลางของสหภาพโซเวียตตามข้อตกลงในกติกาสัญญานาซี-โซเวียต ค.ศ. ๑๙๓๙ อย่างไรก็ตาม เมื่อเยอรมนีเปิดแนวรบด้านตะวันออกด้วยแผนปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation Barbarossa)* ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ โจมตีสหภาพโซเวียตเพื่อขยายดินแดนไปทางตะวันออก การบุกของเยอรมนีทำให้กติกาสัญญานาซี-โซเวียตสิ้นสุดลงโดยปริยาย และทำให้อังกฤษซึ่งเป็นเพียงประเทศเดียวในยุโรปที่ไม่ได้ถูกเยอรมนียึดครองเห็นเป็นโอกาสประกาศสนับสนุนสหภาพโซเวียตในการทำสงคราม ต่อมาเมื่อสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามในยุโรป สหรัฐอเมริกา อังกฤษและสหภาพโซเวียตจึงผนึกกำลังร่วมมือกันต่อต้านเยอรมนีซึ่งนำไปสู่ช่วง “พันธมิตรอันยิ่งใหญ่” (Grand Alliance) ระหว่าง ๓ ประเทศมหาอำนาจ (ค.ศ. ๑๙๔๑–๑๙๔๕) โคมินเทิร์นก็ประกาศนโยบายสนับสนุนความร่วมมือของประเทศพันธมิตร

 ใน ค.ศ. ๑๙๔๓ สตาลินตัดสินใจยุบเลิกโคมินเทิร์นลงเพื่อทำให้ประธานาธิบดีแฟรงกลิน เดลาโน โรสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt) แห่งสหรัฐอเมริกา และวินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษไว้วางใจเขาและหายหวาดระแวงว่าสหภาพโซเวียตจะดำเนินการผลักดันการก่อการปฏิวัติขึ้นในประเทศฝ่ายพันธมิตร ในวันที่ ๑๕ พฤษภาคมโคมินเทิร์นได้ออกคำประกาศยุบองค์การและส่งคำประกาศให้หน่วยงานสาขาต่าง ๆ ทราบและขอความเห็นชอบ เมื่อหน่วยงานสาขาต่าง ๆ มีมติเห็นชอบโคมินเทิร์นก็ยุบเลิกอย่างเป็นทางการ สถาบันวิจัย ๑๐๐ แห่ง และหน่วยงานต่าง ๆ ที่ปฏิบัติงานให้โคมินเทิร์นกว่า ๒๐๐ หน่วยงานถูกโอนไปอยู่กับงานฝ่ายต่างประเทศของคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต (International Department of Central Committee of the Communist Party of the Soviet Union) ซึ่งจัดตั้งขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่โคมินเทิร์นประกาศยุบ

 ห้าเดือนหลังการยุบโคมินเทิร์น สหภาพโซเวียตเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศครั้งสำคัญขึ้นที่กรุงมอสโกระหว่างวันที่ ๑๙–๓๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพโซเวียตพบปะหารือกันเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับแนวทางการทำสงครามเอาชนะเยอรมนีและการทำข้อตกลงว่าด้วยความมั่นคงทั่วไปของยุโรปหลังสงครามสิ้นสุดลง รวมทั้งการจะร่วมกันร่างสนธิสัญญาสันติภาพกับประเทศต่าง ๆ การประชุมที่กรุงมอสโก (Moscow Conference)* ค.ศ. ๑๙๔๓ จึงมีส่วนเสริมสร้างความร่วมมือและความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศและนำไปสู่การประชุมระหว่างประเทศครั้งสำคัญอีกหลายครั้งในเวลาต่อมา.



คำตั้ง
Third International; Comintern
คำเทียบ
องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓, โคมินเทิร์น สัญลักษณ์ขององค์การโคมินเทิร์น
คำสำคัญ
- กติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์น
- กติกาสัญญานาซี-โซเวียต
- การทำให้เป็นแบบบอลเชวิค
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน
- การปฏิวัติถาวร
- การประชุมที่กรุงมอสโก
- การประชุมที่ซิมเมอร์วัลด์
- คอมมูนแห่งปารีส
- โคมินเทิร์น
- เงื่อนไข ๒๑ ประการ
- ชิเชริน, เกออร์กี วาซีเลวิช
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- ซีโนเวียฟ, กรีกอรี
- ดิมีทรอฟ, เกออร์กี
- นาซี
- แนวร่วมประชาชน
- บอลเชวิค
- บูฮาริน, นีโคไล
- ปฏิบัติการบาร์บารอสซา
- โปรฟินเทิร์น
- พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต
- พรรคคอมมิวนิสต์บัลแกเรีย
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน
- พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- พันธมิตรอันยิ่งใหญ่
- มากซ์, คาร์ล
- รัฐสวัสดิการ
- ราเดค, คาร์ล
- ลัทธิฟาสซิสต์
- ลัทธิมากซ์
- เลนิน, วลาดีมีร์
- สงครามกลางเมืองรัสเซีย
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สตาลิน, โจเซฟ
- สหภาพโซเวียต
- สหภาพแรงงาน
- สัญญานาซี-โซเวียต
- สากลที่ ๓
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๑
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ หรือสากลที่ ๓
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๔
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๔
- องค์การสากลคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพแรงงาน
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1919–1943
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๖๒–๒๔๘๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-